ศาลาปฏิบัติธรรม
พระบรมสารีริกธาตุ
พระมิตซูโอะ คเวสโก เจ้าอาวาสวัดสุนันวนาราม
อุโบสถสไตล์ญี่ปุ่น
ศิลปะสไตล์ญี่ปุ่น
ทำวัตรเย็นเวลา 19.35 น.
อาหารมื้อเย็น
พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
เรื่อง/ภาพ : พันธวิศย์ เทพจันทร์
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีสิ่ง “ล่อตาล่อใจ” วัยรุ่นทั้งโจ๋ต่างชาติและโจ๋รักเมืองไทยมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น "คอนเสิร์ตสาวขาเรียวยาว" แต่หน้าไปทางเดียวกันอย่าง "เกิร์ล เจเนอเรชั่น"
หรือเหนื่อยจากกระโดดร็อคมาเยอะ เลยต้องหันไป"นั่งเล่น" กับ "บอดี้แสลม"
หรืองานคอนเสิร์ตรวมพลคน(เคย)อินดี้อย่าง “แฟตเฟส11” ที่มาเต็มทุกวง ครบทุกแนว
เปล่า มติชนออนไลน์ ไม่ได้มาบรรยาย รีวิวคอนเสิร์ตเหล่านี้
แต่งานนี้ขอเสนอแหวกแนว ทำตัวเป็นวัยรุ่น “นอกสมัยนิยม”
ไม่ได้พาตัวเองเข้าป่าเหมือนภาพยนตร์เรื่อง “In to the wild”
แค่อยากขอลองชักชวนกลุ่มวัยรุ่นยุค "ความเร็วแสง" มาทำใจสบาย ๆ รับกระแสลมอุ่น ๆ พร้อมด้วยเสียงของธรรมชาติ ณ วัดสุนันวนาราม วัดป่ากลางหุบเขาใกล้กับในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี
ใช่แล้ว! จะพามาเดินจงกลม อานาปานสติ "สูดหายใจลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ คิดให้ดี อ่านให้เป็น"
อย่าพึ่งปิดหน้าเว็บหนี ลองอ่านอีกสักนิดเผื่อ “ฉุกคิด” อะไรบางอย่าง(มา)ได้(บ้าง)
โครงการ “เที่ยวทั่วไทย หัวใจถึงธรรม” เป็นงานท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์พุทธศาสนา มีหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
นำคณะโดย “นพ.บัญชา พงษ์พานิช” ศิษย์เอกสำนัก "สวนโมกขพลาราม" ของท่านพุทธทาส
แค่ชื่อผู้นำคณะก็ไม่ธรรมดาแล้วเพราะในวงการธรรมะต่างยกให้เป็น"ผู้รอบรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น”
เรียกได้ว่าเที่ยวไปด้วย มีความรู้ไปด้วย แถมยังอิ่มเอมใจในการทำสมาธิ ฝึกจิตให้พร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลง
“คุ้มซะยิ่งกว่าคุ้ม”
พระบรมสารีริกธาตุ
การเข้าวัด นั่งสมาธิ ถือว่าเป็นเรื่องยากสำหรับ “คนยุคปัจจุบัน”
ส่วนใหญ่ให้เหตุผลตรงกันว่า ไม่มีเวลา หรือไม่อย่างนั้นก็ “รอแก่ก่อนค่อยไป”
น่าเสียดายถ้าความคิดแบบนี้ปิดโอกาสในการฝึกจิตเพื่อให้รู้ “เท่าทันตัวเอง” เพราะการนั่งสมาธินอกจากจะทำให้เกิดความ "ใจเย็นแล้ว" สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้แน่นอนก็คือ "การคุยกับตัวเอง"
อุโบสถสไตล์ญี่ปุ่น
แต่ที่นี้เน้นการเดินธรรมดา ให้สายตาเพ่งไปที่เท้า กำหนดจิตให้อยู่ตามเส้นทาง
ไม่เพ่งได้อย่างไร เส้นทางที่เดินเต็มไปด้วยขวากหนามเสียเหลือเกิน
ต้องคอยดูไม่ให้เหยียบก้อนหิน ก้อนกรวด แต่ก็ไม่พ้นไปเหยียบเสี้ยนเข้าให้
ไม่ใส่รองเท้าเดิน ถ้าไม่มีสมาธิ เดินใจลอย จินตนาการล่องลอยถึงอนาคต ไม่อยู่กับปัจจุบันแล้วล่ะก็
“มีหวังฝ่าเท้าระบมนอนโอดครวญกันตลอดคืน”
ถาม นพ.บัญชาว่า ทำไมที่นี้เน้นเดินแบบปกติ แต่เดินนานกว่าที่อื่นเป็นพิเศษ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแต่จบหมอที่เชียงใหม่บอกว่า
“จะทำให้ร่างกายเหนื่อยเล็กน้อย แล้วเวลานั่งสมาธิจะอยู่นิ่ง สงบจิตใจได้ง่ายขึ้น”
แล้วก็จริงดั่งพี่หมอว่า เดินจงกลมอยู่ครึ่งชั่วโมง มานั่งสมาธิกำหนดลมหายใจตามแนวคิดของ “พระมิตซูโอะ คเวสโก” เจ้าอาวาสวัดป่าแห่งนี้ “สูดหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาวๆ” ปฏิบัติไม่ยาก เห็นผลเร็วทันตา คือ “จิตใจสงบขึ้น”
ทุกอย่างไม่เคลื่อนไหวแม้จะมีเสียงของธรรมชาติ ลมอุ่น ๆ ที่มาปะทะร่างกาย กลิ่นหอมของดอกไม้ลอยฟุ้งมาแต่ไกล
แต่ก็เป็นเพียงเรื่องราวของปัจจุบันที่มนุษย์ต้องดำรงอยู่
เมื่อรู้สึกได้ดังนั้นจึงเข้าใจถึงสาเหตุแห่ง “ทุกข์” ด้วยตนเองว่า “การอยู่กับอนาคต” เป็นสาเหตุที่เราเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน หวังแบบนั้น คิดว่าจะไม่ทำแบบนี้ ไม่อยากให้เจอเรื่องนั้น ไม่อยากให้ใครทำกับเราอย่างนี้
เป็นจินตนาการที่เกิดจากการไม่ดำรงอยู่กับปัจจุบันเสียทั้งสิ้น
นั่งสมาธิเรื่อย ๆ แม้จะรู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง เพราะก็ยังเป็นวัยรุ่น เด็กที่สุดในกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมถ้าไม่นับน้องอายุ 10 ขวบที่อยู่กลุ่มเดียวกัน
“ความไม่ชินย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา”
แต่ด้วยความที่ไม่ต้อง “ตั้งใจ” ทำสมาธิ เพียงนั่งให้ปกติ สูดลมหายใจเข้าออกให้ยาว ๆ
ความสงบจะบังเกิดแล้วอารมณ์จะหยุดนิ่ง “ชั่วคราว”
ในความวุ่นวายบนโลกใบนี้ เพียงแค่ “สงบชั่วคราว” ก็ดีแล้วมิใช่หรือ
ศาลาปฏิบัติธรรม
หลังจากผ่านไป 1 วันเต็ม ๆ กับกระบวนการอานาปานสติและการเสวนาธรรมกับเจ้าอาวาส ประสบการณ์แรกของวัยรุ่นเข้าวัดก็สอนให้แง่คิดได้ข้อหนึ่งว่า
ตั้งแต่เราดำรงชีวิตมาอยู่ถึงทุกวันนี้ เราให้อาหารแต่ร่างกายแต่ไม่เคยให้อาหารหล่อเลี้ยงจิตใจเลย
ความอ่อนไหว ใจร้อน เยือกเย็น การมองโลกในมุมร้าย ด้านมืดทางอารมณ์จึงคุกรุ่นตลอดเวลา
เพียง แค่เราให้อาหารแก่หัวใจตัวเองบ้าง การมองชีวิตในมุมบวกที่หลายคนใฝ่ฝันหา มันก็เกิดขึ้นได้ง่ายมากและอย่างที่หลายคนไม่เคยรู้เลยว่า “มันเกิดจากตัวเราเองทั้งนั้น”
ทำวัตรเย็นเวลา 19.35 น.
อาหารมื้อเย็น
------
หลังจากเสร็จภารกิจหล่อเลี้ยงหัวใจของตัวเอง ก็เตรียมหล่อเลี้ยงหัวใจของคนอื่นบ้าง
“ไปนั่งสมาธิ อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้กล้าแห่งสะพานข้ามแม่น้ำแคว ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อนุสรณ์สถานผู้เสียชีวิตจากการสร้างสะพานมรณะ”
เมื่อก่อนก็มาเที่ยมชมธรรมดา แต่มาทริปนี้ต้อง “พิเศษกว่าที่อื่นอยู่แล้ว”
ใครจะคิดว่า ทริปทัวร์จะมีการนั่งสมาธิอุทิศส่วนกุลศลให้ผู้เสียชีวิตด้วย “แม้จะหลอน ๆ บ้าง” แต่ก็เต็มใจและรู้สึกยินดี
ถ้าไม่เคยเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลจะไม่มีทางรับรู้ความรู้สึกแบบนี้เลย
เสร็จจากที่นี่ก็ไปเที่ยวชมพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ก่อนหน้านี้เยี่ยมชมมาหลายครั้งก็ธรรมดา ไม่เห็นมีอะไร แค่เจดีย์องค์ใหญ่ ๆ องค์หนึ่ง
แต่มากับ นพ. บัญชา หมอผู้ไม่เป็นหมอแต่เป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงต้อง “40 ...ธรรมดา 35”
เล่าแต่ละเรื่องเป็น “ฉาก ๆ” ฟังแล้วอ้าปากหวอ “นี่พี่หมอเกิดยุคไหนครับเนี่ย”
เห็นภาพได้ยินเสียงราวกับอยู่ในเหตุการณ์ ณ ขณะนั้น
นี่คือแนวคิดการท่องเที่ยวแบบใหม่ฉบับของ ททท. ที่คณะทัวร์ควรนำมาปฏิบัติ
ชมด้วยสายตาอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมสถานที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญ ประกาศเป็นแหล่งท่องเที่ยว
เพียงสบตามันยังเกิด “ช่องว่างระหว่างเราอยู่” ต้องรับรู้ รับฟัง พูดคุย แลกเปลี่ยนกับสถานที่เหล่านั้นด้วย
“จะได้ทำให้เรารู้จักกันและใกล้ชิดกันมากขึ้น”
ต้องขอบคุณทีมงานสวนโมกข์กรุงเทพและ นพ.บัญชา พงษ์พานิชที่ทำให้ “เรา” ใกล้ชิดกันมากขึ้นหลังจากที่คอย (แอบ) สบสายตากันอย่างเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น