
"เตียว" เป็นภาษาถิ่นของภาคเหนือ แปลว่า "เดิน" ในภาคกลางนั่นเอง
ในทุกๆ ปีชาวเชียงใหม่ (ชาวล้านนา) ก็จะมีประเพณี "เตียวขึ้นดอย" หรือเดินขึ้นดอยเพื่อขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ โดยมีระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชา ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 พ.ค.
ชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงจะปฏิบัติเช่นนี้ทุกปี และปฏิบัติกันมายาวนาน ด้วยความเชื่อว่า ทำบุญให้ได้กุศลแรงจะต้องเดินเท้าขึ้นไปทำบุญที่วัด
ผู้คนจะเริ่มเดินในตอนเย็น ประมาณ 2 ทุ่ม ของวันขึ้น 14 ค่ำ (วันที่16พ.ค.) เรื่อยไปจนถึงเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 โดยจะแวะนมัสการอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนเดินขึ้น
ในปีนี้เชื่อว่าจะมีผู้คนทุกสารทิศมาร่วมกิจกรรมกันอย่างหนาแน่น เช่นทุกปีที่ผ่านมา แม้ฝนจะตกตลอดทั้งคืนก็ตาม
ประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ เป็นประเพณีที่ชาวเชียงใหม่ถือปฏิบัติสืบมาเป็นประจำทุปี และเป็นเอกลักษณ์พิเศษของชาวล้านนา ว่ากันว่าประเพณีนี้ เริ่มมาตั้งแต่การเกิดเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ที่องค์พระบรมสารีริกธาตุ วัดสวนดอกแยกออกเป็น 2 องค์ ทำให้พระเจ้ากือนา กษัตริย์ผู้ครองราชย์สมัยนั้น คิดหาสถานที่ที่จะสร้างวัดขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่ง จึงทรงทำการเสี่ยงทายในวันวิสาขบูชา และก็ได้วัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นที่ประดิษฐาน
ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนจะถือโคมไฟเพื่อไปบูชาพระธาตุ นำน้ำและอาหารแห้งขึ้นไปทำบุญตักบาตร และจะใช้เวลาเดินทางหลายวัน เนื่องจากการคมนาคมยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ผู้คนจะด้วยเท้าเปล่า ถือประทีป ธูปเทียน เป็นริ้วขบวนยาวต่อเนื่อง ในขบวนประกอบด้วย พระสงฆ์เดินนำหน้าสวดมนต์ และประชาชนเดินตามหลัง พอเดินทางไปถึงก็ขึ้นไปนมัสการวัดพระธาตุดอยสุเทพ หลังจากนั้นก็บำเพ็ญศีล วิปัสสนากรรมฐาน ทำบุญตักบาตรในเช้าวันรุ่งขึ้น แล้วจึงเดินทางกลับ
ปัจจุบันมีความทันสมัยมากขึ้น โดยขบวนของคณะต่างๆ ทั้งตัวแทนหมู่บ้าน บริษัทห้างร้าน องค์กรต่างๆ มาร่วมกิจกรรมด้วย มีการนำอาหารว่าง เครื่องดื่มมาบริการชนิดที่ว่าท้องไม่เคยว่างกันเลยทีเดียว รวมถึงการจำหน่ายของใส่บาตร ระหว่างทางก็จะมีการแสดงและการละเล่นมากมาย ที่มีคนนำมาจัดแสดง เช่น การร้องเพลงจาวเหนือ การตีกลองสะบัดชัย สะล้อ ซอ ซึง และการฟ้อนรำ ตลอดสองข้างทางตามจุดต่างๆ
ช่วงเวลาดังกล่าวไม่อนุญาตให้ขับรถขึ้นไป โดยมีจุดบริการจอดรถให้ ส่วนคนที่เดินขึ้นดอยก็จะมีกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย จะได้เห็นตั้งแต่คนแก่เดินถือไม้เท้าค่อยๆ เดิน ไปจนถึงวัยกลางคน คนหนุ่มคนสาว ที่จับกลุ่มเดินหยอกล้อกันไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ ปะปนกันไป บางกลุ่มเหนื่อยก็นั่งพักบริเวณริมสองข้างทาง
ประเพณีดังกล่าวรับรองได้ว่าสนุก แถมยังได้รับกุศลผลบุญอย่างแรงกล้า แต่ต้องบอกว่าอดทนเท่านั้นถึงจะเดินไหว และภายหลังมานี้ได้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและต่างจังหวัดไกลๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงหยุดยาวแบบปีนี้ แต่ขอเตือนว่าคนเยอะมาก และเยอะจริงๆ
อย่างไรก็ตาม หากใครไม่มีเวลามากพอ หรือไม่อยากไปทำบุญไกลถึงเชียงใหม่ ในแต่ละจังหวัดก็มีกิจกรรมทำบุญเนื่องในวันวิสาขบูชาเช่นกัน หรืออาจจะทำบุญตักบาตรในตอนเช้าพร้อมกันในครอบครัว ส่วนตอนเย็นก็เวียนเทียนที่วัดใกล้บ้าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น