mp 3 (for download) : ไตรสิกขา
หลวงพ่อปราโมทย์: เมื่อเดือนก่อนไปกราบท่านอาจารย์มหาบัว ท่านไม่สบายนะวันที่ไปน่ะ เป็นวันฉัตรมงคลหรือเปล่า ใช่ไหม เป็นวันฉัตรมงคล ตอนเช้าท่านออกมารับโยมนะ ฉันไปนิดหน่อยหรือไง ท่านเป็นลมล่ะ พระต้องเอาท่านกลับกุฏิล่ะ ไปนวด ให้ออกซิเย่นน่ะ นวด ท่านค่อยยังชั่วขึ้นมา บ่าย ๓ โมงกว่า
เข้าไป กราบท่าน ๓ โมงครึ่ง ทีแรกท่านก็เนือย ๆ เหนื่อย ๆ นะ สังขารเป็นอย่างงั้นนะ สักพักน่ะ ก็ดู ๆ ไปในความชราของท่าน ในความเจ็บไข้ของท่านนะ ท่านมีความสุขจังเลย มีความสุขที่พวกเราไม่มีนะ ไอ้คนแข็งแรงก็ไม่มีความสุขอย่างนี้นะ คนหนุ่มคนสาวเขาก็ไม่มีความสุขอย่างนี้ เราดูแล้วเราเห็นตัวอย่างที่ดีนะ ดูครูบาอาจารย์มาแต่ละองค์ ๆ ท่านมีความสุข ยิ่งอยู่ไปยิ่งมีความสุขนะ พัฒนาไปเรื่อย งั้นเรามาเดินตามแนวของท่านนะ ท่านเดินยังไง ท่านเดินอยู่ในหลักของไตรสิกขานั่นเอง ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้เดินนอกแนวทางนี้ไปได้หรอก ทุกองค์ ๆ ก็เดินอยู่ในแนวทางอันนี้
มี ศีลนะ มีความสุข เคยได้ยินไหม เวลาทำบุญพระชอบสวด สีเลน สุคตึ ยนฺติ มีศีลแล้วจะมีความสุข มีสุคติ ไม่ใช่ทุคติ ตอนนี้ในบ้านในเมืองเรา ทุคติ รู้สึกไหม เป็นโซนทุคติแล้วนะ เพราะไม่มีศีล งั้นพวกเราพัฒนาใจของเรานะ ตั้งใจเอาไว้ ทุกวันเลย ตื่นนอนขึ้นมานะ ตั้งใจไว้ วันนี้เราจะไม่ทำผิดศีลห้า ตั้งใจอย่างนี้ทุกวันนะ ส่วนกลางวันศีลจะด่างพรอย กระท่อนกระแท่นก็ช่างมันนะ แต่ตื่นนอนต้องตั้งใจไว้ก่อน ย้ำกับตัวเองเอาไว้ว่าเราจะไม่ผิดศีล และพยายามรักษาให้เต็มที่ ก่อนจะนอนก็ตั้งใจอีก นอนไปวันนี้เราก็จะไม่ทำผิดศีล บางคนสงสัยทำไมจะนอนแล้วยังต้องรักษาศีล เกิดนอนแล้วไม่ได้ฟื้นขึ้นมา เป็นโรคไหลตายน่ะ อย่างน้อยก็ยังตั้งใจว่าจะรักษาศีลอยู่
รักษาศีลเนี่ย คือ เราตั้งใจไว้ว่าเราจะไม่เบียดเบียนคนอื่นนะ ด้วยกาย ด้วยวาจาเนี่ย เราจะไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ว่ากิเลสจะเกิดขึ้นในกายใจเรารุนแรงแค่ไหน เราจะไม่เบียดเบียนผู้อื่นนะ ตั้งใจไว้อย่างนั้น วิธีที่จะรักษา ศีลให้ง่ายนะ ให้มีสติ ถ้ากิเลสเกิดขึ้นที่จิตใจของเรานะ เรามีสติรู้ทันไว้ กิเลศจะครอบงำจิตไม่ได้ ถ้ากิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ไม่ผิดศีลหรอก คนทำผิดศีลได้เพราะกิเลสครอบงำจิต เพราะงั้นพวกเราฝึกนะ คอยรู้ทันจิตของตัวเองไว้ กิเลสโผล่ขึ้นมาคอยรู้ไว้ เราจะถือศีลง่าย ถ้าเราไม่มีสติซะอย่างเดียวนะ โอกาสจะถือศีลจะยากมาก ศีลจะด่างพร้อยอย่างรวดเร็วเลย
ศีล ข้อไหนด่างพร้อยง่ายที่สุด นึกออกไหม ข้ออะไร อืม รู้ทั้งรู้นะ แต่ก็ด่างนะ เพราะฉะนั้นเราต้องมีสตินะ คอยรู้ทันจิตใจเรา กิเลสอะไรเกิดเราคอยรู้นะ ราคะอะไรเกิดเราคอยรู้นะ เพราะรู้ทัน ราคะจะไม่ครอบงำจิต เราก็ไม่ไปขโมยใคร ไม่เป็นชู้ใคร ไม่ไปโกหกหลอกหลวงเอาสมบัติของใครน่ะ โทสะเกิดขึ้นเรามีสติรู้ทันนะ เราก็ไม่ฆ่าใคร ไม่ตีใคร ไม่ด่าใครนะ เราคอยมีสติรู้ทันไปเรื่อย รักษาศีลง่าย
รักษาศีลเนี่ย ศีลทำให้กายวาจาเรียบร้อย แต่เวลารักษา รักษาที่ใจ ถ้ารักษาใจได้นะ กายวาจาเรียบร้อยไปเองแหล่ะ ถ้ากายวาจาไม่เรียบร้อย ก็เพราะใจมันไม่เรียบร้อย เรามีสตินะ รักษาใจของเรา อันนี้หลวงพ่อยังใช้คำว่ารักษาใจอยู่นะ รักษา จิตใจ ยังไม่ใช่ขึ้นวิปัสสนา ถ้าถึงขั้นวิปัสสนา ไม่ใช่ขั้นรักษาแล้ว เป็นขั้นเรียนรู้ความจริง ในขั้นถือศีลนะ มีสติรักษาใจตัวเองไว้
ถัดจากนั้นเรามาฝึกสมาธิ อย่าไปกลัวคำว่าสมาธิ สมาธิเป็นเรื่องธรรมดานะ สมาธิมี ๒ จำพวก สมาธิชนิดที่หนึ่งนะ เป็นสมาธิเพื่อการพักผ่อนนะ ทำสมาธิเพื่อพักผ่อน เช่น เรา พุท โธ พุท โธนะ จิตใจเราสบายอยู่กับพุท โธ สงบ ได้พักผ่อน หายใจออก หายใจเข้า จิตใจสงบ อยู่กับลมหายใจ ได้พักผ่อน ดูท้องพองยุบนะ จิตใจสงบอยู่กับท้อง ได้พักผ่อน ไปเดินจงกรมนะ จิตใจสงบอยู่กับร่างกาย จะอยู่กับเท้า หรืออยู่กับร่างกายทั้งร่างกายก็ได้ แบบนี้ก็ได้พักผ่อน คือจิตได้ไปอยู่สงบ อยู่กับอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง สบายอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง จิตสงบได้พักผ่อน
จิต ปกตินั่น ร่อนเร่อยู่ตลอดเวลานะ หยิบฉวยอารมณ์โน้น หยิบฉวยอารมณ์นี่ตลอดเวลานะ สังเกตดู ใจของเราเดี๋ยวก็อยากดู เดี๋ยวก็อยากฟัง เดี๋ยวก็อยากได้กลิ่น เดี๋ยวก็อยากได้รส เดี๋ยวก็อยากสัมผัสโน่นสัมผัสนี่ เดี๋ยวก็อยากทางใจ อยากชิม อยากนึก อยากปรุง อยากแต่ง อยากสงบ อยากได้มรรคผลนิพพานนะอยากดี ไม่อยากชั่ว อยากสุขไม่อยากทุกข์ มีความอยากเกิดขึ้นตลอดเลย
จิตมันหิวอารมณ์ มันก็ดิ้นหาอารมณ์ไปเรื่อย ไม่สงบ เราก็เลือกดู ว่าถ้าเราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุขนะ เราก็อยู่กับอารมณ์ชนิดนั้นนะ พอจิตได้ยินอารมณ์ ได้เสวยอารมณ์ที่มีความสุขแล้ว จิตก็ไม่ร่อนเร่ไปที่อื่น
หลัก ของการทำสมถะนะ ทำสมาธิให้เป็นสมถกรรมฐานเพื่อพักผ่อนเนี่ย เราเลือกดูว่าเราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุข ต้องเป็นอารมณ์ที่เป็นกุศลนะ อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็กนะ อยู่กับลมหายใจนะ แล้วมีความสุข ดังนั้นเวลาต้องการการพักผ่อน หลวงพ่อก็มารู้ลมหายใจ จิตไม่หนีไปที่อื่น จิตอยู่กับลมหายใจ อยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่ร่อนเร่ ไปตะครุบอารมณ์โน่นทีอารมณ์นี่ที จิตใจสงบมีความสุขขึ้นมา ได้พักผ่อน อันนี้เป็นสมาธิแบบหนึ่งนะ
สมาธิแบบที่สองเป็นสมาธิของการเตรียมความพร้อมทางจิตใจ เพื่อจะไปทำการเจริญปัญญา หรือทำวิปัสสนา สมาธิอันที่หนึ่งทำไปเพื่อพักผ่อน ให้มีความสุข มีความสงบ สมาธิอันที่สองเป็นการเตรียมจิตให้พร้อมกับการเจริญปัญญานะ จิต ที่จะเจริญปัญญาได้ต้องเป็นจิตที่ตั้งมั่นนะ ไม่ใช่สงบแล้วก็เพลินอยู่กับความสุขความสงบ จิตที่ใช้เดินปัญญาได้เป็นจิตที่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้สึกตัว เป็นจิตที่รู้สึกตัว จิตชนิดนี้จะไม่ไหลตามอารมณ์ แต่ว่าอารมณ์มันจะไหลผ่านมา จิตเป็นแค่คนดู จิตไม่ไหลตามอารมณ์ ไม่เหมือนอารมณ์ชนิดแรกนะ อารมณ์ชนิดแรกน่ะ จิตไปแนบอยู่กับตัวอารมณ์ รู้ลมหายใจ จิตไปอยู่กับลมหายใจ รู้ท้องจิตไปอยู่ที่ท้อง รู้มือจิตอยู่ที่มือ แล้วไม่หนีไปที่อื่น สงบอยู่อย่างนั้น
สมาธิ อย่างที่สองที่จะใช้เดินปัญญาเนี่ยนะ จิตตั้งมั่นเป็นแค่คนดู เห็นอารมณ์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จิตตั้งมั่นเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู ไม่ไหลตามอารมณ์ไป คล้ายๆ เราอยู่บนฝั่งริมแม่น้ำ ริมคลอง เรายืนอยู่บนฝั่งเห็นสิ่งต่าง ๆ ลอยน้ำมา ท่อนไม้ลอยน้ำมาบ้างนะ หมาเน่าลอยมาบ้าง ดอกไม้ลอยมาบ้างนะ เห็นเรือผ่านมาบ้าง เห็นคนว่ายน้ำผ่านมาบ้าง เราอยู่บนบก เราไม่โดดลงในน้ำ เราเห็นทุกอย่างไหลผ่านหน้าเราไปเฉยๆ
สมาธิชนิดนี้นะ จิตจะตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นปรากฎการณ์ทั้งหลาย ไหลผ่านหน้าไป เช่น เห็นความสุขไหลผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เห็นความทุกข์ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เห็นความสงบผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เห็นความฟุ้งซ่านผ่านมาแล้วก็ผ่านไปนะ เห็นความโลภ ความโกรธ ความหลงผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เห็นความดีใจ ความเสียใจ ความกลัว ความเกลียด ความพยาบาทนะ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างนั่นแหล่ะ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จิตเป็นคนดู ดูอยู่ห่าง ๆ นะ
เราต้องค่อย ๆ ฝึกนะ ให้มีจิตชนิดนี้ จิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูเนี่ย เป็นจิตที่หลุดออกจากโลกของความคิด เป็น จิตที่หลุดออกจากโลกของความคิดนะ จิตที่ไหลไปแช่ไปนิ่งอยู่ในอารมณ์ มักจะเพลินไปในโลกของความคิด ยิ่งคิดถึงพุทโธ คิดถึงลมหายใจ คิดถึงท้องพองยุบนะ แล้วก็เพลินไป ส่วนจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนะ มันจะหลุดออกจากโลกของความคิดได้
วิธีที่จะฝึกไม่ยากเท่าไรนะ ฝึกสังเกตจิตที่ไหลไปคิด จิตที่หลงไปคิด วิธีฝึกนะ เบื้องต้นทำกรรมฐานสักอันหนึ่งก่อน กรรมฐานอันที่เคยทำนั่นแหล่ะ เคยพุทโธ ก็พุทโธ เคยรู้ลมหายใจก็ลมหายใจ เคยดูท้องพองยุบก็ดูท้องพองยุบไปนะ เคยทำกรรมฐานอะไรก็ทำไป แต่ไม่ได้ทำเพื่อให้จิตเข้าไปแนบ เข้าไปนิ่ง อยู่กับตัวกรรมฐาน ปรับ ปรับการทำนิดหนึ่งนะ ปรับการทำนิดหนึ่ง เช่น เราอยู่กับพุทโธ พุทโธไป แล้วรู้อะไร รู้ทันจิต รู้ทันจิตเลยนะ พุทโธ พุทโธไป จิตสงบอยู่ รู้ว่าสงบอยู่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จิตหนีไปคิด รู้ว่าจิตหนีไปคิด หรือบางคนอยู่กับลมหายใจนะ แต่เดิมรู้ว่าลมหายใจ จิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ ที่นี่เป็นแบบแรก สงบ ถ้าสมาธิแบบที่สองนะ เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดูอยู่ หายใจไปด้วยความรู้สึกตัวนะ หายใจไปด้วยความรู้สึกตัว จิตไม่ไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ แล้วต่อมาจิตหนีไปคิด จิตไหลไปคิดปึ้บ มีสติรู้ทันว่าจิตไหลไปคิด เมื่อไรรู้ทันว่าจิตหนีไปคิดนะ เมื่อนั่นจิตจะตื่นขึ้นมา
ที่หลวงพ่อบอกว่า ตื่น ๆ บางคนไปโม้นะ บอกว่าตัวเองได้พระโสดา เพราะหลวงพ่อบอกว่าตื่นแล้ว ตื่น นี่แค่เบื้องต้นมีสมาธิเท่านั้นเอง เบื้องต้นเพื่อเจริญปัญญาต่อไป หลวงพ่อเทียนจึงบอกว่า ถ้ารู้ว่าจิต คิดจะได้ต้นทาง ต้นทางของการปฏิบัตินะ ไม่ ใช่ได้โสดา เพราะงั้นเรารู้สึกตัวขึ้นมานะ จิตไหลไปคิดเรารู้ พุทโธ พุทโธ จิตหนีไปคิดเรารู้ หายใจไปหายใจออกหายใจเข้า จิตหนีไปคิดเรารู้ ดูท้องพองยุบไป จิตหนีไปคิด เราคอยรู้ เพราะงั้นจิตไหลไปอยู่ที่ท้องก็คอยรู้นะ จิตไปเพ่งก็รู้ จิตคอยคิดจิตก็รู้
สรุป แล้วก็คือ ทำกรรมฐานขึ้นสักอันหนึ่ง แล้วจิตไปเพ่งก็รู้ จิตเผลอไปก็รู้ เมื่อก่อนหลวงพ่อพูดเรื่อยๆ เผลอกับเพ่ง จำได้ไหม ถ้าไม่เผลอ ไม่เพ่งจิตก็ตื่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ผู้ตื่น จิตมีสมาธินั่นเอง เพราะงั้นเราทำกรรมฐานขึ้นสักอันหนึ่ง แล้วจิตไปเพ่งอารมณ์ ไปเพ่งลมหายใจเข้าออกก็รู้ ไปดูท้องพองยุบแล้วจิตไปอยู่ที่ท้องก็รู้ เดินจงกรมแล้วจิตไปอยู่ที่เท้าก็รู้ รู้ทันนะ พอรู้ทันแล้วจิตมันจะถอนตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ได้ทันได้เอง
หรือจิตหลงไปคิด หายใจอยู่ พุทโธอยู่ ดูท้องพองยุบอยู่ จิต หลงไป คิดแล้ว รู้ทัน พอรู้ทันแล้วจิตจะถอนตัวขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนะ จิตตัวนี้จะโปร่ง โล่ง เบา อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ไม่หนัก ไม่แน่น ไม่ซึม ไม่ทื่อนะ จิตชนิดนี้แหล่ะ พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว
เพราะฉะนั้นสมาธินั่นก็มี ๒ ส่วน สมาธิที่ทำไปเพื่อความสุข ความสงบ อันหนึ่ง สมาธิเพื่อเตรียมจิตให้พร้อมกับการเดินปัญญาเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ พอจิตพร้อมกันการเดินปัญญา รู้ตัวแล้วเนี่ย ไม่หยุดอยู่แค่นั้น ต้องมาเดินปัญญานะ
การมาเดินปัญญานั่นเบื้องต้น ต้องหัดแยกธาตุ แยกขันฑ์ให้ได้ อย่างน้อยต้องแยกเรื่องรูปธรรม นามธรรมออกจากกันให้ได้นะ พอ ใจเราตั้งมั่นให้เป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว เราคอยรู้สึกลงไป เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู เห็นร่างกายพองยุบ ใจเป็นคนดู เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ใจเป็นคนดู เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตใจเป็นคนดูนะ ทำตัวเป็นคนดูนะ ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง ใจเป็นคนดู หัดอย่างนี่บ่อย ๆ นะ นั่งสมาธิไปก็ได้ นั่งไปแล้วก็เห็นร่างกายหายใจ สังเกตไหม ใจเราอยู่ต่างหาก ใจเราตั้งมั่นอยู่ เป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ ร่างกายมันหายใจ ร่างกายไม่ใช่จิตใจ
นี่หัดอย่างนี้นะ หัดแยกขันธ์ พอเราแยกได้ เราจะเห็นว่าร่างกายกับจิตใจเป็นคนละอย่างกัน ร่างกายกับจิตใจอยู่ห่าง ๆ นะ ไม่ได้อยู่เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแต่เดิม ตลอดชีวิตที่รู้สึกมาแล้ว ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่งนะ นั่งต่อไปด้วยความอดทนนะ นั่งต่อไปสักพักใหญ่ ๆ มันเมื่อย เราจะเห็นเลยความปวดความเมื่อยมันแทรกเข้ามา เนี่ยแทรกเข้ามาในร่างกาย ร่าง กายตั้งมั่นอยู่ก่อน ตั้งอยู่ก่อน ความเมื่อยมาทีหลัง เพราะฉะนั้นความเมื่อยไม่ใช่ร่างกายหรอก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา จิตก็เป็นคนดูอยู่อย่างเดิมนะ เราก็จะเห็นได้ว่าร่างกายก็เป็นส่วนหนึ่งนะ นี่คือรูปขันธ์นะ ความปวดความเมื่อยเรียกว่า เวทนาขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์
แยกได้ ๓ ขันธ์นะ พอมันปวดมันเมื่อยมาก ๆ นะ จิตใจมันทุรนทุราย ชักทุรนทุรายแล้ว โอ๊ย นั่งนาน ๆ เดี๋ยวเป็นอัมพาตนะ อย่างโน่นอย่างนี่ ชักกังวลล่ะ ความกังวลไม่ได้เกิดที่ร่างกาย รู้สึกไหม ความกังวล เกิดที่ใจ แต่เดิมใจไม่ได้กังวล แต่ตอนนี้ใจมันกังวล ความกังวลเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในใจ เพราะฉะนั้นความกังวลไม่ใช่ใจหรอก มันเป็นขันธ์อีกขันธ์หนึ่ง เรียกว่า สังฆารขันธ์ นะ หัดอย่างนี่ นะ หัดซ้อมไปเรื่อย ต่อไปเราจะแยกขันธ์ได้หมดเลย รูปก็ส่วนรูปนะ ร่างกายมันก็ยืน เดิน นั่ง นอน หายใจไป กินอาหารไป ขับถ่ายไป ทำงานของมันไป เวทนาเป็นความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ที่เกิดในร่างกายบ้าง ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉย ๆ ที่เกิดในจิตใจบ้าง สังขารนั่นเป็นความปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดี ปรุงไม่ชั่วที่เกิดขึ้นทางใจ ไม่เกิดทางกายนะ จิตก็เป็นผู้รู้ ผู้ดูอยู่
นี่ ฝึกอย่างนี่เรื่อย ๆ ขันธ์แต่ละขันธ์นั่นจะแยกตัวออกไป พอขันธ์แยกตัวออกไป เรียกว่า พวกเรามีปัญญาขั้นต้นล่ะ ถัดจากนั้น ขันธ์แต่ละขันธ์จะแสดงไตรลักษณ์ ร่างกายแสดงความไม่เที่ยง แสดงความทุกข์ แสดงการบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา เวทนา สังญา สังขาร วิญญาณไรเนี่ย ก็ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ อนิจจัง อนัตตา เสมอกันหมดเลยนะ
แต่ถ้าจิต เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด จิตเองก็ไม่เที่ยงนะ เดี๋ยวก็เป็นผู้สุข เดี๋ยวก็เป็นทุกข์ เดี๋ยวก็เป็นผู้ดี เดี๋ยวก็เป็นผู้ร้าย จิตก็มีความไม่เที่ยง เนี่ยเราเรียนรู้ลงในขันธ์ห้า นะ ในสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ในขันธ์ห้า เนี่ย เรียนรู้ลงไป เห็นแต่ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ในตัวเรา เนี่ยแหล่ะคือการเดินวิปัสสนากรรมฐาน ดูลงไปในความเป็นจริงของกายของใจนะ ไม่ใช่แค่คิดเอา ต้องดูของกายจริง ๆ ของใจจริง ๆ ดูของจริง
เมื่อเดินปัญญาแก่รอบแล้วเนี่ย ต่อไปวิมุตติจะเกิดขึ้น จิตมันรู้ความจริงแล้วเนี่ยว่า ขันธ์ห้า มันเป็นตัวทุกข์นะ จิตจะวางขันธ์ จิตปล่อยวางขันธ์นะ จิตจะไปรู้พระนิพพานนะ ถ้าจิตไม่ได้หลงไปในโลกของความคิด คือ ไม่ได้หลงไปในบัญญัติ ไม่ได้หลงไปเพ่งกายเพ่งใจ หลงอยู่ในรูปธรรมนามธรรม จิตก็ไปรู้นิพพานนะ จิตไปรู้นิพพาน ไม่ได้ไปรู้บัญญัติ ไม่ได้ไปรู้รูปนาม ก็ต้องไปรู้นิพพาน จิตต้องรู้อารมณ์นะ นี่เราฝึกนะ วันหนึ่งเรานิพพาน นิพพานยังไม่ต้องตาย นิพพานยังมีชีวิตอยู่ ยิ่งอยู่ยิ่งแก่นะ ยิ่งมีความสุขมากขึ้นๆ นะ สดชื่น นึกถึงทีไรสดชื่น จิตใจคึกคักห้าวหาญเหมือนอย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านเป็นนะ
สวนสันติธรรม
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๔
Track: ๑๓
File: 530516A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๕ วินาทีที่ ๒๘ ถึง นาทีที่ ๓๒ วินาทีที่ ๒๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น